ประเพณีไหลเรือไฟ เดือนสิบเอ็ด


ประเพณีไหลเรือไฟ เดือนสิบเอ็ด

เดือนสิบเอ็ด ประเพณีทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้โอวาทเตือนพระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ทรงศีล พอตกกลางคืนจะมีการจุดประทีป โคมไฟ นำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัดหรือตามริมรั้ววัด จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญจุดประทีป ในจังหวัดนครพนมจะมีประเพณีการไหลเหลือไฟ ซึ่งตกแต่งด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าดเป็นรูปต่างๆ สวยงามกลางลำน้ำโขง และมีหลายจังหวัดที่จัดงานแห่ปราสาทผึ้งขึ้น แต่ที่นับว่าเป็นต้นตำรับและมีความยิ่งใหญ่กว่าที่ใด ก็คือ จังหวัดสกลนคร
      
       และเดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่า ซึ่งจะมีการทำบุญกองกฐิน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม หนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานในสมัยก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกันตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล จะมีการจัดส่วงเฮือ (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค บางแห่งจะมีการทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าห่มกันหนาวถวายพระเณร มีการจุดพลุตะไล และบางแห่งจะมีการทำบุญโกนจุกลูกสาว ซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน
      
       ประเพณีทั้งสิบสองเดือน ชาวอีสานโบราณถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง ใครที่ไม่ไปช่วยงานบุญก็จะถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจ และไม่คบค้าสมาคมด้วย การร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำทำให้ชาวอีสานมีความสนิทสนมรักใคร่และสามัคคีกัน ทั้งภายในหมู่บ้านของตนและในหมู่บ้านใกล้เคียง
      
       สำหรับวันนี้ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ประเพณี 12 เดือนหลายอย่างของชาวอีสานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในขณะที่บางประเพณีก็เริ่มสูญหาย ซึ่งหากประเพณีเหล่านี้ไม่มีการสืบต่อหรือไม่มีการอนุรักษ์ไว้ บางทีในอนาคตเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักประเพณีอันดีงามอย่าง"ฮีตสิบสอง"ก็เป็นได้