ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เดือนสิบเอ็ด



ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เดือนสิบเอ็ด


สำหรับประเพณีหลักๆ 12 เดือนตามฮีตสิบสองของชาวอีสานโบราณนั้นประกอบด้วย
     
       เดือนเจียง (เดือนอ้าย) มีการประกอบพิธีบุญเข้ากรรม ซึ่งเป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ชาวบ้านก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ
     
       เดือนยี่ ในฤดูหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน โดยนิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะมีการทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียมเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน
     
       เดือนสาม ในมื้อเพ็ง หรือวันเพ็ญเดือนสาม จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อยนำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไป ถวายพระ
     
       เดือนสี่ ทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ ซึ่งเรียกว่า "กัณฑ์หลอน" หรือถ้าจะถวายเจาะจงเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็จะเรียกว่า "กัณฑ์จอบ" เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อนว่าใช่พระรูปที่จะถวายเฉพาะเจาะจงหรือไม่
     
       เดือนห้า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หรือบุญสรงน้ำ หรือบุญเดือนห้า ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า และถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไทย การสรงน้ำจะมีทั้งการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ ด้วยน้ำอบน้ำหอมเพื่อขอขมาและขอพร ตลอดจนมีการทำบุญถวายทาน
     
       เดือนหก ประเพณีบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเป็นการขอฝน พร้อมกับงานบวชนาค ซึ่งการทำบุญเดือนหกถือเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา หมู่บ้านใกล้เคียงจะนำเอาบั้งไฟมาจุดประชันขันแข่งกัน หมู่บ้านที่รับเป็นเจ้าภาพจะจัดอาหาร เหล้ายามาเลี้ยง เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งขบวนแห่บั้งไฟและรำเซิ้งออกไป ณ ลานที่จุดบั้งไฟ ด้วยความสนุกสนาน คำเซิ้งและการแสดงประกอบจะออกไปในเรื่องเพศ แต่จะไม่คิดเป็นเรื่องหยาบคายแต่อย่างใด ซึ่งประเพณีบุญบั้งไฟจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกปีที่จังหวัดยโสธร ส่วนการทำบุญวิสาขบูชานั้น จะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ช่วงเย็นมีการเวียนเทียนเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ